เปิด 10 หุ้นอสังหาฯ ปันผลสูงสุด 8% หลังคลังต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง หุ้น ORI ใฟ้ผลตอบแทนปันผลปี 2566 สูงสุดอยู่ที่ 8.52%
หุ้นอสังหาฯ ถือเป็นหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนน้อยใหญ่ให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยที่ว่าหุ้นอสังหาฯ ส่วนใหญ่มักมีอัตราเงินปันผลตอบแทนค่อนข้างสูง และแถมบางหุ้นยังมีอัตราผลตอบแทนราคาย้อนหลังที่เป็นบวกอีกด้วย
และในปี 2567 ยิ่งน่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า มีมุมมองเป็นกลางกับหุ้นกลุ่มอสังหาตามหลักจิตวิทยาเชิงบวกเล็ก ๆ กับหุ้นกลุ่มอสังหาฯ เพราะตลาดมีการคาดการณ์ว่า ก่อนหน้าว่าจะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างดีมานด์ของอสังหาฯ ในปี 2567 อาจจะไม่ได้ดูแข็งแรงมากนัก ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกหุ้นที่มีโปรเจคในตลาดกลางถึงระดับบนที่ยังพอมีดีมานด์อยู่ และเป็นกลุ่มที่โครงการส่วนใหญ่ค่อนข้างประสบความสำเร็จทั้งโปรเจคแนวราบที่สามารถขยายตัวได้ดีในต่างจังหวัด ขณะที่โปรเจคคอนโดมิเนียม มีการขยายตัวได้ดีเช่นกันทั้งโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดังนั้น นักลงทุนต้องพิจารณาในหุ้นกลุ่มดังกล่าวที่มี High Yield หรือมีปันผลสูง ปัจจุบันมี หุ้น SIRI ที่เป็นตัวเด่น ตามมาด้วย หุ้น SC และหุ้น AP
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ในส่วนของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2% เหลือ 1% และจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับราคาซื้อขายและราคาประเมินที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท สำหรับปี 2567 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2566 มีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจากเป็นการขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหมือนทุกปี
และยังคงกำหนดสิทธิสำหรับราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากนัก เนื่องจากระดับราคาบ้านกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% ของมูลค่าทั้งตลาดรวม โดยมุมมองของฝ่ายวิจัยประเมินว่า หากมีขยายเพดานสิทธิสู่บ้านราคาไปถึง 5 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย น่าจะครอบคลุมได้ในวงกว้างมากกว่า เนื่องจากบ้านระดับถึง 5 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 50-60% ของตลาดรวม
ขณะที่ความต้องการมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ที่ให้ผู้ซื้อสามารถกู้ได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังที่เท่าไร หรือราคาเท่าไรนั้น โดยให้น้ำหนักต่อประเด็นเรื่องการผ่อนปรน LTV ว่า จะมีผลต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในเชิงบวกมากกว่ามาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง เนื่องจากเดิมการเกิดขึ้นของมาตรการ LTV เพื่อหวังสกัดกั้นการเก็งกำไร แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น และการให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ทำให้ ธปท. ผ่อนคลาย LTV ตั้งแต่ 20 ต.ค. 2564-สิ้นปี 2565 ก่อนกลับมาใช้เกณฑ์มาตรการ LTV แบบเดิมในปี 2566 หลังโควิด-19 คลี่คลายลง
ทั้งนี้ แนะนำลงทุนสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เลือกหุ้นเด่นที่มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแรง มีสินค้ากระจายตัวทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม รวมถึงพอร์ตลูกค้าหลากหลาย ตลอดจนปันผลจูงใจ ได้แก่ หุ้น AP SPALI SC LH และ SIRI